มหัศจรรย์ของกินของใช้เยาวราช กรุงเทพฯ ไม่เคยหลับ

เยาวราช
ภาพประกอบโดย 1000 Words / Shutterstock.com

เยาวราช
ภาพประกอบโดย AJP / Shutterstock.com

มหัศจรรย์ของกินของใช้เยาวราช กรุงเทพฯ ไม่เคยหลับ (ไทยโพสต์)

          ช่วงนี้บรรยากาศในเมืองกรุงค่อนข้างเหงา เพราะถูกพิษน้ำท่วม ขณะที่หน่วยงานของรัฐก็พยายามแก้ปัญหา แต่จะรอหวังพึ่งภาครัฐเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะสุดท้ายทุกคนก็ต้องพึ่งพาตัวเองอยู่ดี ชีวิตก็ต้องเดินต่อไป การทำมาหากินบางคนต้องหยุดชะงักไปบ้าง อาหารการกิน ข้าวของเครื่องใช้ก็หาซื้อยาก โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อ หรือในห้างสรรพสินค้าก็หมด

          ขณะที่ตลาดต่าง ๆ หลายที่ในกรุงเทพฯ ที่ปิดตัวชั่วคราวไปเพราะน้ำท่วม แต่ "ย่านถนนเยาวราช" ยังคงเปิดให้บริการอยู่ แม้ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนมีน้ำท่วมขังผิวจราจรเล็กน้อย เพราะช่วงนั้นน้ำทะเลหนุนสูง แต่ก็ได้ลดลงไปแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าแม้น้ำจะไม่ท่วม บรรยากาศก็ค่อนข้างเงียบเหงา ผู้คนบางตาไปบ้าง ร้านค้าต่าง ๆ มีการเตรียมการป้องกันน้ำท่วม ร้านทองบางร้านปิดประตูเข้าเหลือประตูเดียว มีการนำกระสอบทราย นำอิฐบล็อก ยิปซัม ไม้อัด ปิดหน้าร้าน

          สำหรับข้าวของเครื่องใช้ที่ขายกัน ช่วงนี้จะเป็นสินค้ายังชีพและเกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วม อาทิ ไฟฉาย รองเท้าแตะ รองเท้าบู๊ต เรือยาง เสื้อชูชีพ ห่วงยาง ผ้ายาง แผ่นพลาสติก ฯลฯ ดังนั้น ใครเบื่อ ๆ เซ็ง ๆ อยู่บ้าน ก็ออกมาท่องเที่ยวในย่านนี้กันได้

          ก่อนอื่นมารู้จักกับถนนเยาวราชที่มีระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตรกันก่อน ถนนสายนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้ระยะเวลาในการตัดถนน 8 ปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2434 - พ.ศ.2443 เพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับส่งเสริมการค้าขาย เดิมทีชื่อ "ถนนยุพราช" และได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า "ถนนเยาวราช" เป็นถนนที่มีสีสันและผู้คนมากมายตลอดเวลา ผู้คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ที่นี่จะเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ที่สืบทอดเชื้อสายกันมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ และยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมเก่าแก่เอาไว้

เยาวราช
ภาพประกอบโดย AJP / Shutterstock.com

          นอกจากจะมีตลาดขายสินค้า อาหาร และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่นี่ยังมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คนนิยมมาสักการบูชา ร้านขายสมุนไพรของคนไทยเชื้อสายจีนที่มีความเก่าแก่ บริเวณถนนเยาวราชเองก็มีถนนสายเล็ก ๆ และคลอง ที่มีร้านขายสินค้าตั้งอยู่ เช่น ร้านเครื่องประดับตกแต่งผม ร้านชา ร้านอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัว ร้านอาหาร ร้านผ้า ร้านขายผักต่าง ๆ ที่แปลกใหม่ส่งตรงมาจากประเทศจีน และอื่น ๆ อีกมากมายกว่า 1,000 ร้าน การซื้อของส่วนใหญ่นิยมซื้อคราวละมาก ๆ หรือแบบที่เรียกว่าเหมาโหลถูกกว่า สำเพ็ง (หรือรู้จักกันทั่วไปว่าซอยวนิต) เป็นซอยเล็ก ๆ ที่อยู่ทางใต้ของถนนเยาวราช เป็นซอยที่มีผู้คนหนาแน่นเช่นเดียวกับถนนเยาวราช และเป็นซอยที่มีสินค้าหลายอย่างไม่แพ้สินค้าในถนนเยาวราชเช่นกัน

          ถนนเยาวราชนั้นยังเป็นถนนที่รักษาเอกลักษณ์เก่าแก่ไว้เคียงคู่กับความทันสมัยได้ ผู้คนส่วนน้อยจะพูดภาษาอังกฤษ  โดยเฉพาะในโรงแรมในย่านนั้น ทางเหนือของถนนเยาวราชเองยังมีย่านพาหุรัด เป็นย่านที่มีชาวอินเดียขายสินค้า โดยเฉพาะผ้าอยู่มาก มีร้านขายปลีกผ้าไหม ผ้าฝ้าย และมีร้านขายอาหารอินเดีย

          ส่วนช่วงกลางคืนถือเป็นช่วงของผู้ที่ชอบหาอาหารรสเลิศ เพราะที่นี่มีอาหารมากมาย สามารถตะลุยกินได้เต็มที่ 7 วัน 7 มื้อ ไม่ซ้ำแบบ มีตั้งแต่อาหารจีนระดับหรูสารพันเมนู ไปถึงอาหารริมถนน เช่น ผัดหมี่ฮ่องกง ก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ บะหมี่เกี๊ยวกุ้ง อาหารทะเลเผา ตามกันมาด้วยกวยจั๊บ ขนมหวานแบบจีนและไทย ทั้งแปะก๊วย รังนก บัวลอยน้ำขิง ขนมหวานไทย ขนมเบื้อง และเกาลัดร้อน ๆ กลับไปฝากคนทางบ้านก็มีให้เลือกมากมาย

เยาวราช
ภาพประกอบโดย AJP / Shutterstock.com

          เราชอบกินกวยจั๊บอ้วนโภชนา หน้าโรงหนัง (เยาวราช) ใครที่มาเยาวราชเป็นประจำจะรู้จักร้านดังกล่าวเป็นอย่างดี ด้วยกวยจั๊บน้ำใสที่รสเผ็ดพริกไทย หมูกรอบที่กรอบอร่อย ยิ่งกินยิ่งติดใจ ใครชอบแบบมีเครื่องในก็สั่งได้เลย หลังอาหารคาว ก็ต้องตบท้ายด้วยของหวาน ขนมหวานสิริรามา บริเวณโรงหนังสิริรามาเก่าบริเวณถนนเจริญกรุง บริเวณใกล้กันเป็นร้านที่ต้องการแนะนำ เมื่อเห็นมะม่วงหน้าร้านสวยอวบมากเลยก็เดินเลี้ยวทันที ร้านนี้ขายขนมไทยใส่ถ้วยหรือใส่ถุงก็ 12 บาทเท่ากัน ถือเป็นราคาที่ค่อนข้างถูกทีเดียวสำหรับย่านนี้

          พอนั่งหน้าร้านกลับเปลี่ยนใจไม่กินมะม่วง แต่ไปลองกล้วยบวชชี น้ำกะทิก็หอมมันมาก ๆ พอกินหมดก็ขอลองอีกซักอย่าง จึงเลือกขนมสาคูข้าวโพด แม่ค้าแอบกระซิบบอกว่าจริง ๆ แล้วทำสาคูเผือก แต่กลัวลูกค้าเบื่อเลยเปลี่ยนเป็นสาคูข้าวโพดบ้าง จากนั้นปิดท้ายด้วยโกโก้เย็นล้างปาก

เยาวราช
ภาพประกอบโดย Kushch Dmitry / Shutterstock.com

          ย่านเยาวราชไม่ได้มีแต่ของกินของใช้เพียงอย่างเดียว ช่วงกลางวันผู้คนแถวนี้ยังไป "วัดเล่งเน่ยยี่" หรือที่เรียกกันว่า "วัดมังกรกมลาวาส" สถานที่แก้ปีชงของใครหลายคน พร้อมทั้งไปกราบไหว้ขอพรกันแน่นขนัดในแต่ละวัน โดยสำหรับชื่อจีนของวัดที่มีชื่อว่า "เล่งเน่ยยี่" นั้น เล่ง แปลว่ามังกร เน่ย แปลว่าดอกบัว ส่วน ยี่ ก็หมายถึงวัด ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดให้ใหม่ในภาษาไทย ที่มีความหมายครบถ้วนตามชื่อจีนว่า "วัดมังกรกมลาวาส" นั่นเอง

          วัดจีนแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้เลือกชัยภูมิที่ตั้งวัด และโปรดเกล้าฯ ให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าซ้าย ร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจีน ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2414 และใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 8 ปีจึงแล้วเสร็จ เป็นวัดสำคัญที่ชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนให้ความเคารพศรัทธามาโดยตลอด

          หลังน้ำลดคงเห็นประชาชนมาขอพรกันเพิ่มขึ้นเพื่อไม่ให้ภัยพิบัติน้ำท่วมนี้หวนกลับมาอีก