วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทัวร์กรุงเทพฯ ไปดูของดีที่ราษฎร์บูรณะ

เที่ยวกรุงเทพ

ดูของดีที่ราษฎร์บูรณะ (Lisa)

         
ชวนไปไหว้พระทำบุญ เที่ยวสวนในบางกอก และฟังเรื่องเล่าแต่อดีตจากปากคำของชาวราษฎร์บูรณะ
          ถึงผู้เขียนจะเป็นชาวกรุงแต่อ้อนแต่ออก แต่ก็บอกตามตรงว่าไม่ได้รู้จักเมืองที่ซุกหัวนอนอย่างทุกซอกมุม วันนี้นึกครึ้มใจอยากใช้วันหยุดสักวันกับกรุงเทพฯ ที่รักบ้าง หลังจากออนทัวร์ทั่วไทยอยู่บ่อย ๆ ระหว่างเสิร์ชหาข้อมูลดูสิว่าเขตไหนย่านไหนมีอะไรให้เที่ยวดูกันบ้าง ก็จ๊ะเอ๋เข้ากับข่าวกิจกรรมของสถาบันไทยคดีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จับมือกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตราษฎร์บูรณะ พาผู้สนใจไปดูของดีในเขตราษฎร์บูรณะ

เที่ยวกรุงเทพ

 เที่ยว 3 วัดดังแห่งราษฎร์บูรณะ

          ชุมชนกับวัดผูกพันกันมานาน การมาทำความรู้จักเขตราษฎร์บูรณ์ในครั้งนี้ เราจึงไม่พลาดไปชมวัดดังประจำเขตกันซะหน่อย นำชมโดยท่านผู้ใหญ่ใจดีชาวราษฎร์บูรณะหลายต่อหลายท่าน พร้อมกับเล่าว่าวัดในเขตนี้ส่วนใหญ่เป็นมรดกทางศิลปกรรม ที่สืบต่อจากสมัยกรุงศรีอยุธยาเช่นที่ "วัดราษฎร์บูรณะ" ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เราได้นมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลาแลงที่ขุดพบจากใต้ฐานพระประธานในโบสถ์ ชมเรือสำเภาจำลองและสิ่งปลูกสร้างที่บูรณะโดยตระกูลเก่าแก่อย่าง กาญจนกุญชร, ฟักอุดม และทัดเอี่ยม ซึ่งสกุลหลังนี้จัดเป็นเศรษฐีที่ดินประจำย่านก็ว่าได้

          ใครสนใจงานศิลปะปูนปั้นต้องมาชมพระอุโบสถของ "วัดแจงร้อน" ที่สวยแปลกตาเป็นลายปูนปั้นรูปผลไม้และสัตว์ต่าง ๆ เช่น สับปะรด ทับทิม น้อยหน่า ชมพู่ กบ ค้างคาว ปลาตีน ช้างสามเศียร ฯลฯ สะท้อนถึงวิถีชีวิตผู้คนย่านนี้ที่เป็นชาวสวนอยู่ติดแม่น้ำ ผนวกกับพื้นเพเดิมของเจ้าอาวาสผู้บูรณะก็เป็นลูกชาวสวนจากระยอง โดยบูรณะไว้เมื่อ พ.ศ. 2469 ในวิหารหลวงยังเป็นที่ประดิษฐาน "หลวงพ่อหินแดง" พระพุทธรูปศิลาแลงสีแดงปางสมาธิที่งดงามมากด้วย

          แต่ถ้าหลงใหลเส้นสีในงานจิตรกรรมฝาผนังต้องไปชมภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสามก๊กหนึ่งเดียวในเมืองไทย ร้อยเรียงเรื่องราวอยู่ภายในพระอุโบสถทั้งสี่ด้านของ "วัดประเสริฐสุทธาวาส" ซึ่งวัดนี้ยังปรากฏใบเสมาเดี่ยวทำจากหินทรายแดงที่มีมาก่อนสมัยอยุธยา และพระประธานศิลาสีแดงลงรักปิดทองนามว่า "หลวงพ่อท้าวสุวรรณ"

          แม้ยังมีอีกหลายวัดในย่านนี้ที่พลาดชม เช่น วัดบางปะกอกวัดสารอด วัดสน แต่วัดทั้ง 3 แห่งที่ได้ไปมาคราวนี้ก็มีดีไม่แพ้ใครเหมือนกัน

เที่ยวกรุงเทพ

ท่องสวนในบางกอก

          ราษฎร์บูรณะได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตหมากชั้นดีขึ้นชื่อคู่กับตลาดพลูย่านฝั่งธนฯ มาเที่ยวคราวนี้จึงมีโอกาสได้เดินข้ามท้องร่องท่องสวนหมากของ ลุงสันต์ เกตุทองเรือง พอลงจากรถปุ๊บก็ประเดิมด้วยมะพร้าวน้ำหอมคนละลูกทันที ดื่มน้ำมะพร้าวเย็น ๆ ดับร้อน แจกช้อนตักเนื้อมะพร้าวอ่อนเกินกันอย่างเอร็ดอร่อย ตามด้วยกล้วยหอมทองสด ๆ จากสวน ทั้งหอมทั้งหวานกินกันไม่อั้น

          เสร็จแล้วคุณลุงก็พาลุยท้องร่องไปดูวิธีการขึ้นหมากแบบโบราณที่หาชมได้ยาก สาธิตโดยศิษย์เอก พี่ทิดไข่ ผู้ว่องไวไม่แพ้ลิง จากหมากต้นแรกโหนไปอีกหลายต้น ก่อนจะหอบทะลายหมากลงมากอง

          ลุงสันต์ เล่าว่าหมากของที่นี่รสดี คือ รสหวาน ฝาดน้อย เมื่อผ่าออกจะได้หน้าหมากเต็มซีก วันนี้ลุงสันต์มีพื้นที่สวนกว่า 30 ไร่ เป็นสวนหมากแซมด้วยผลไม้เกือบ ๆ 20 ชนิด แม้จะไม่มีไฟฟ้าใช้เพราะการไฟฟ้าฯ ยังมาไม่ถึง...555 แต่คุณลุงและครอบครัวก็กินอิ่มนอนอุ่นเพราะมีผลผลิตให้เก็บกินมีขายกันทั้งปี โดยเฉพาะหมากนั้นขายดีเพราะมีคนปลูกน้อยลง แต่ยังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยมากจะนำไปเป็นเครื่องไหว้ต่าง ๆ จะขายเป็นหมากสดหรือแปรรูปเป็นหมากแข็งกับหมากซอยก็ได้

เที่ยวกรุงเทพ

ท่องอดีตกับพิพิธภัณฑ์เขตราษฎร์บูรณะ

          อยากรู้ภาพอดีตของย่านนี้ให้มากขึ้น นอกจากภาพปัจจุบันที่พัฒนาไปเป็นโรงงาน โกดังสินค้า และโรงสี ต้องมาที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตราษฎร์บูรณะ ภายในโรงเรียนวัดประเสริฐสุทธาวาส ซึ่งมี คุณปุ๊กกี้-มะลิวัลย์ ทับโพชา อาสาสมัครพิพิธภัณฑ์เป็นผู้คอยดูแลอดีตของชาวราษฎร์บูรณะ

          พร้อมกับเล่าเรื่องราวของย่านนี้นับแต่มีการขุดพบวัตถุโบราณสมัยลพบุรี การเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของเมืองกรุง ชมการจัดแสดงวิถีชีวิตชาวสวนหมาก อุปกรณ์โบราณของโรงสี เครื่องจักสาน เครื่องดินเผา ตลอดจนสิ่งของมีคุณค่าอีกมากมายที่สะท้อนถึงการเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้อย่างดี และเรายังได้ชมผู้ใหญ่ใจดีชาวราษฎร์บูรณะมาสาธิตการทำว่าวจุฬา สานปลาตะเพียน การทำน้ำมะตูม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่กำลังสูญหายไปทุกวัน

          กลับมาบ้านพร้อมกับกล้วยหอมทอดในถุงที่คุณลงให้เป็นของฝาก...อดใจหายไม่ได้ เมื่อนึกว่าย่านราษฎร์บูรณะวันนี้กำลังแปรสภาพ แต่ยังดีมีผู้สูงวัยอีกหลายท่านอยากรักษาสิ่งดี ๆ ของไทยไว้ใหญ่ลูกหลาน...ใครอยากสานต่อความตั้งใจของพวกท่านก็แวะไปเที่ยวราษฎร์บูรณะกันบ้างนะ

บั้งไฟพญานาค 2555

บั้งไฟพญานาค 2555


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก nongkhainews

          จังหวัดหนองคาย องค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย เทศบาลเมืองหนองคาย ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุดรธานี กำหนดจัดงานเทศกาลออกพรรษา "บั้งไฟพญานาค ประจำปี 2555" ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ตลอดแนวฝั่งโขง และบริเวณเทศบาลเมืองหนองคาย อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย

          ในช่วงเทศกาลออกพรรษาของทุกปี จะมีประชาชนทั่วทุกภูมิภาคเดินทางมายังจังหวัดหนองคาย เพื่อสัมผัสกับปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เรียกว่า "บั้งไฟพญานาค" ลูกไฟสีแดงอมชมพู ที่พวยพุ่งขึ้นจากลำน้ำโขง ไม่มีเสียง ไม่มีควัน และไม่มีกลิ่น เหมือนดอกไม้ไฟหรือพลุ ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงปีละครั้ง ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี

          อย่างไรก็ตาม ในงานเทศกาลออกพรรษา บั้งไฟพญานาค ประจำปี 2555 จะมีพิธีบวงสรวงพญานาคตามแบบโบราณ ณ ศาลหลักเมืองปากห้วยหลวง อำเภอโพนพิสัย ส่วนในเขตเทศบาลเมืองหนองคายก็ได้จัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นถนนอาหาร, การแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานฯ, การแสดงแสง-เสียงเปิดตำนานบั้งไฟพญานาค, การประกวดปราสาทผึ้งแบบดั้งเดิม, การประกวดลูกทุ่งไทยทาเลนท์, การประกวดธิดาเรือไฟจำแลง, การลอยเรือไฟบูชาพญานาค, ไหลเรือกาบกล้วย, ประกวดธิดาปราสาทผึ้งมื้อไหล และการตักบาตรเทโวโรหนะ เป็นต้น


         
แผนที่จุดชมบั้งไฟพญานาคและสถิติจำนวนบั้งไฟพญานาคแต่ละปี

          รายชื่อโรงแรม บ้านพัก รีสอร์ท ใกล้สถานที่เกิดบั้งไฟพญานาค จังหวัดหนองคาย

          กำหนดการจัดงานประเพณีออกพรรษา ประจำปี 2555



          ทั้งนี้ สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ ททท.สำนักงานอุดรธานี โทรศัพท์ 0 4232 5406-7, ศูนย์ข้อมูลข่าวสารการท่องเที่ยวจังหวัดหนองคาย โทรศัพท์ 0 4242 1326 และ 0 4241 1120, ที่ว่าการอำเภอโพนพิสัย โทรศัพท์ 0 4242 1185 และเทศบาลเมืองหนองคาย โทรศัพท์ 0 4242 1017


อร่อยเมืองเก่า ก๋วยเตี๋ยวเรือเจ๊นิดเจ้าเก่า

ขายวัดใจคนกินมากว่า 40 ปี เจ๊นิดเป็นรุ่นที่ 3 รุ่นแรกคือก๋ง เป็นคนจีนโพ้นทะเล พายเรือขายก๋วยเตี๋ยวไปทั่วคุ้งน้ำเมืองอยุธยา ก่อนจะตกทอดมาถึงเตี่ยและเจ๊นิดในที่สุดเมื่อมีการตัดถนน การสัญจรทางน้ำก็ถูกลดความสำคัญลง ลูกค้าก็น้อยลงไปด้วย ก๋วยเตี๋ยวเรือซึ่งเคยล่องเรือขายจึงยกเรือขึ้นมาตั้งขายอยู่ที่ท่าน้ำหน้าวัดรัตนชัยหรือวัดจีน

 
เมนูเด็ดคือก๋วยเตี๋ยวหมูต้มยำที่มีวิธีปรุงแบบดั้งเดิม คือลวกเส้นและผักใส่ชามไว้ จากนั้นปรุงน้ำซุปรสกลมกล่อมแล้วราดลงบนเส้น ตามด้วยเครื่องเคราวางเรียงเต็มชาม ทั้งหมูแดง หมูกรอบ หมูสับ ลูกชิ้นหมู กุ้งทอด แฮ่กึ๊นทอด และเกี๊ยวกรอบ รสชาติอร่อยแบบไม่ต้องเรียกหาเครื่องปรุง อีกชามอร่อยคือก๋วยเตี๋ยวเนื้อ มีทั้งน้ำตกและน้ำใส เนื้อสดของเขาหั่นสไลซ์จนบางเฉียบแล้วหมักเครื่อง รสชาติจึงเคี้ยวนุ่มละมุนลิ้น ส่วนเนื้อตุ๋น เขาก็ตุ๋นจนเครื่องเทศเข้าเนื้อ เครื่องในทั้งตับทั้งม้ามหอมกรุ่นกลิ่นเครื่องเทศ ไม่มีกลิ่นคาวให้เสียรส ที่พิเศษคือเขามีน้ำพริกเผาไว้ให้เพิ่มรสเพิ่มกลิ่นด้วย
ก๋วยเตี๋ยวเรือเจ๊นิดเจ้าเก่า อยู่ที่ท่าน้ำหน้าวัดรัตนชัย (วัดจีน) เยื้องทางเข้าวัดสุวรรณดาราราม ถ. อู่ทอง อ. พระนครศรีอยุธยา จ. พระนครศรีอยุธยา เปิดเวลา 09.00-16.00 น. ใครผ่านไปแถวนั้นอย่าลืมแวะชิมนะจ๊ะ

ที่มาจ้า

วัดพระศรีอารย์ โบสถ์ร้อยล้าน (อ.โพธาราม)


อุโบสถทองคำร้อยล้าน The Golden Ubosot at Wat Phra Si An อุโบสถทองคำร้อยล้าน ณ วัดพระศรีอารย์ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรีแสดงถึงความยิ่งใหญ่อลังการแห่งพลังศรัทธาของชาวราชบุรีที่มีต่อ พระพุทธศาสนาในการก่อสร้างอุโบสถทองคำมูลค่าร้อยล้าน ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 37 ปี
  • ชมลวดลายปูนปั้นที่สร้างขึ้นเฉพาะไม่มีแบบสำเร็จรูป
  • ฝาผนังแต่งแต้มด้วย จิตรกรรมเรื่องพระมหาชนก พระเจ้า ๕ พระองค์
  • กราบไหว้พระศรีอารย์พระพุทธรูปคู่วัด พระพุทธลักษณะสมัยคันธาระ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนเคารพกราบไหว้
  • พระประธาน พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะพม่า สร้างด้วยหยกขาวทั้งองค์
  • กราบสักการะร่าง ของหลวงพ่อขันธ์ที่ ไม่เน่าเปื่อยอยู่ในโลงแก้ว
  • ชมโบสถ์หลังเก่าและบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์
  • แหล่งเรียนรู้การทำว่าวไทยกับปราชญ์ชาวบ้าน
  • ศูนย์อบรมค่ายพุทธบุตร สอนให้ยุวชนเข้าใจถึงหลักคำสั่งสอนของพระพุทธองค์
เหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณไม่ควรพลาดเมื่อมาที่ วัดพระศรีอารย์


ประวัติวัดพระศรีอารย์
วัดพระศรีอารย์ ตั้งอยู่เลขที่ 139 ซอยสุขาภิบาล 8 หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มีเนื้อที่โดยประมาณ 40 ไร่ รอบๆบริเวณวัดโดยทั่วไปเป็นป่าโปร่ง มีต้นไม้ใหญ่อยู่มากมาย มีบรรยากาศร่มรื่นเหมาะแก่การใช้เป็นแหล่งปฏิบัติธรรม แต่เดิมสร้างสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี 2275 มีอายุประมาณ 280 ปี เดิมชื่อวัดสระอาน ไม่มีพระภิกษุมาอยู่จำพรรษา อุโบสถเดิมก่ออิฐถือปูนขนาด กว้าง 4 เมตร ยาว 9 เมตร เป็นอุโบสถมหาอุดเข้าออกได้ทางเดียว มีสระน้ำโบราณอยู่คู่กับ อุโบสถด้านทิศเหนือ มีน้ำขังตลอดทั้งปี ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสระน้ำเก่าที่ศักดิ์สิทธิ์ ขณะที่ขุดค้นพบนั้นมีสภาพเก่าชำรุดทรุดโทรมมาก ภายในอุโบสถมีพระประธานที่เก่าแก่ เป็นอิฐเผาถือปูน บริเวณรอบๆ อุโบสถเป็นป่ามีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นปกคลุมอยู่ จนถึงประมาณปี 2475 เริ่มมีพระภิกษุเข้ามาพักจำพรรษาเรื่อยมาในปี 2500 ได้เปลี่ยนชื่อจาก วัดสระอาน มาเป็น วัดพระศรีอารย์
อุโบสถทองคำร้อยล้าน ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 37 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 โดย พระครูสิริพัฒนกิจ (หลวงพ่อขันธ์ กนฺตธโร) อดีตเจ้าวัดพระศรีอารย ์ เป็นผู้ริเริ่ม และได้รับ พระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๐ การก่อสร้าง อุโบสถครั้งนี้ เพื่อใช้เป็น สถานที่ประกอบพิธีกรรมของภิกษุสงฆ์ อีกทั้ง ยังเป็น กาาแสดงถึงมรดกของไทย ด้านศิลปกรรม และจิตรกรรม อุโบสถทำจากคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดกว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๔๐ เมตร ประดับด้วยลวดลายรูปปั้น เป็นฝีมือช่างพื้นบ้าน อุโบสถหลังใหม่นี้ไม่มีแบบสำเร็จรูป เป็นการสร้างตามแบบที่หลวงพ่อขันธ์ ต้องการ และที่ สำคัญไม่มีการตอกเสาเข็ม เพราะ ในสมัยนั้น การก่อสร้างในต่างจังหวัด ยังไม่มีการ ตอกเสาเข็ม เพียงแต่นำหินมาถมและเทคานรองรับเพื่อสร้างตัวอุโบสถได้เลย ช่างผู้รับงานก่อสร้างเป็นคนบ้านพระศรีอารย์ ส่วนแรงงานเป็นการลงแรงของคนในชุมชน และใกล้เคียง การก่อสร้าง ส่วนมากทำในเวลาที่ว่างจากงานประจำของชาวบ้าน กระทั่งในปี ๒๕๑๗ เกิดน้ำท่วมใหญ่ ทำให้ชาวบ้านหวั่นวิตกว่า อุโบสถที่อยู่ระหว่าง ก่อสร้างจะพังลงมา เพราะไม่มีเสาเข็ม แต่หลัง จากน้ำลดลงแล้ว ไม่ปรากฏความเสียหายใดๆ

การก่อสร้างต้องหยุดชะงักลงระยะหนึ่ง เมื่อหลวงพ่อขันธ์มรณภาพ พระครูวิทิตพัฒนโสภณ (สง่า ฐานิสฺสโร) เจ้าอาวาสวัดพระศรีอารย์ รูปปัจจุบันได้เป็นผู้สานต่องานทั้งหมด ต่อมา นายประเสริฐ อรชร ได้เข้ามารับช่วงการก่อสร้างต่อ จึงได้ดำเนินการเทคานรอบตัวอาคาร อีกครั้ง เพื่อความมั่นคง การ ก่อสร้างในสมัยที่นายประเสริฐเข้ามารับงานนี้ เป็นการตกแต่งเพื่อความสมบูรณ์มากกว่า เพราะโครงสร้างของอาคาร ได้เสร็จก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้น งานใหญ่ที่สำคัญคือ การติดลายปูนปั้นต่าง ทั้งภายในและรอบนอกอุโบสถ
ส่วนพระประธาน ในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะพม่า สร้างด้วยหยกขาวทั้งองค์ โดยมี หลวงพ่ออุตตมะ (พระราชสังวรอุดม) วัดวังก์วิเวการาม จ.กาญจนบุรี เป็นประธานในการอัญเชิญ มาประดิษฐานไว้ ณ อุโบสถร้อยล้านหลังนี้ เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๓๖ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปคู่วัด คือ พระศรีอารย์ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่พิมพ์พระศรีอารย์ซึ่งมีลักษณะเด่น คือ มีตาลปัตรอยู่ด้านหน้าองค์พระพุทธรูป จีวรจับกลีบคล้ายพระพุทธลักษณะสมัยคันธาระ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนเคารพกราบไหว้
ภายในอุโบสถติดกระจก ลงรักปิดทองบานประตู หน้าต่าง แกะสลักเรื่อง พุทธประวัติ ฝาผนัง แต่งแต้มด้วย จิตรกรรม เรื่องพระมหาชนก พระเจ้า ๕ พระองค์ วัดได้รับการถวายประตูอุโบสถจาก นายเกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์ ประธานบริษัท อาร์.เอส.โปรโมชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวนเงิน ๑ ล้านบาท หลังจากนั้นทุกปีนายเกรียงไกรก็จะมาช่วยงาน ที่วัดพระศรีอารย์เป็นประจำ อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่มาชมอุโบสถทองคำร้อยล้านแห่งนี้แล้ว ยังจะมีโอกาสได้กราบสักการะร่าง ของหลวงพ่อขันธ์ที่ ไม่เน่าเปื่อยอยู่ในโลงแก้วอีกด้วย

นอกจากนี้แล้ว ที่วัดพระศรีอารย์ ยังจัดศูนย์อบรมค่ายพุทธบุตร สอนให้ยุวชนเข้าใจถึงหลักคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่มาชมอุโบสถทองคำร้อยล้านแห่งนี้แล้ว ยังจะมีโอกาสได้กราบสักการะร่างของหลวงพ่อขันธ์ (อดีตเจ้าอาวาส) ที่ไม่เน่าเปื่อยอยู่ในโลงแก้วอีกด้วย ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0 3223 2595 , 0 3223 1351

การเดินทางรถยนต์ส่วนตัว ใช้เส้นทางไปอำเภอโพธาราม เส้นทางหลวงหมายเลข 3080 ห่างจากสี่แยกบางแพไปประมาณ 500 เมตร จะพบป้ายทางเข้าอยู่ด้านขวามือ (ตั้งอยู่เลขที่ 139 ซอยสุขาภิบาล 8 หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี )

รถโดยสาร โดยสารรถประจำทางที่มีเส้นทางเข้าสู่ ตลาดอำเภอโพธาราม จุดสังเกตุคือ จะอยู่ห่างจากสี่แยกบางแพไปประมาณ 500 เมตร จะพบป้ายทางเข้าวัดพระศรีอารย์อยู่ด้านขวามือ จากนั้นเดินเข้าไปอีกประมาณ 500 เมตร (ตั้งอยู่เลขที่ 139 ซอยสุขาภิบาล 8 หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี )

วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ปัว เมืองโรแมนติกกลางหุบเขา จ.น่าน

บรรยากาศแห่งชีวิตยามเช้าของชาว "ปัว"  ก็มีเสน่ห์ไม่แพ้เมืองไหนๆ ความเรียบง่ายตามวิถีชนบทมีให้เห็นอยู่ทั่วไปในเมืองนี้ในความเงียบสงบบนถนนสายหนึ่งสองข้างทางถูกโอบล้อมด้วยขุนเขา และท้องฟ้าสีคราม มุ่งหน้าสู่เมืองเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรม ทุ่งข้าว กองฟาง และรอยยิ้มของผู้คน

...บางคนกล่าวไว้ว่าสำหรับเมืองปัวถ้าไม่ตั้งใจไปจริงก็จะไปไม่ถึง แต่หากไปแล้วก็จะคิดถึงตลอดไป...
อำเภอปัว ตั้งอยู่ในจังหวัดน่าน จังหวัดที่ไม่ใช่ทางผ่านสู่เมืองท่องเที่ยวสำคัญทางภาคเหนือ หากแต่เป็นที่ที่มีธรรมชาติงดงาม มีวัฒนธรรมชาวไทลื้อ วัดวาอารามเก่าแก่ ชุมชน ที่ยังเต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ของรอยยิ้ม และผู้คน

หากใครที่ได้เข้าไปสัมผัส ก็ยากที่จะลืม…บนเส้นทางเขียวขจีของจังหวัดน่าน สู่อำเภอปัวมีความเป็นมาที่น่าประทับใจ เดิมเป็นอาณาจักรเล็กๆของล้านนา และเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวไทลื้อมาหลายร้อยปี มีความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินและแหล่งน้ำมากมาย



วัฒนธรรมชาวไทลื้อ คือการทอผ้าลายน้ำไหล ล้วนสะท้อนคติความเชื่อฝีมือเชิงช่าง และจินตนาการทางศิลปะของชุมชนชาวไทลื้อได้อย่างดี ชีวิตยามเช้าของชาวปัวเองก็มี เสน่ห์ไม่แพ้เมืองไหนๆ ความเรียบง่ายตามวิถีชนบทมีให้เห็นอยู่ทั่วไป

โดยเฉพาะกาดเช้าชาวบ้านนำของมาขาย พืชผักท้องถิ่นตามฤดูกาล ยอดฟักทอง ตำลึง ผักฮาก ผักหวาน รวมถึงอาหารพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นตำขนุน ตำเตา ส่ามะเขือแจ้ แอบอ่องออหมู...


บรรยากาศยามเช้าจึงดูสดชื่น และมีชีวิตชีวา ตั้งแต่ฟ้ายังไม่สางด้วยความน่ารักของวิถีความเป็นอยู่แบบชุมชนผสาน กับดินแดนแห่งขุนเขาที่งดงาม ทำให้เมืองเล็กๆแห่งนี้กลายเป็นเมืองที่อยู่ในใจของใครหลายคนที่เคยไปสัมผัส

รู้ก่อนเดินทาง - เมื่อเดินทางถึงอำเภอปัว ถ้าอยากเห็นของแปลก 1 ใน UnseenThailand ก่อนถึงตัวอำเภอเล็กน้อย มีทางแยกเข้าสู่วัดปราง

ลองเลี้ยวเข้าไปดู “ต้นดิกเดียม” พรรณไม้อัศจรรย์ที่คล้ายมีอารมณ์ขัน เพราะใบไม้จะสั่นไหวระริกทุกครั้งยามถูกคนสัมผัส.....
ข้อมูล http://www.scb.co.th/

พลับพลึงธาร บานเร้นลับ ที่ผืนป่าคลองนาคา


พลับพลึงธาร บานเร้นลับ ที่ผืนป่าคลองนาคา จังหวัดระนอง (ททท.)

          พลับพลึงธาร คือที่สุดของความเร้นลับในผืนป่าคลองนาคา เดือนพฤศจิกายนของทุกปี ทั้งคลองนาคาจะเต็มไปด้วยดอกไม้หายากชนิดนี้

          ผืนป่าคลองนาคา กิ่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง เป็นป่าดงดิบผืนใหญ่ที่ต่อเนื่องกับป่าเขาสกและป่าคลองแสงในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี และป่าศรีพังงา อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา จนกลายเป็นผืนป่าที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรภาคใต้ ความลี้ลับของป่าดงดิบผืนนี้มีอยู่มากมาย หนึ่งในนั้นคือความงามของ ดอกพลับพลึงธาร (Crinum thaianum) ไม้น้ำหายากซึ่งพบที่เดียวในเมืองไทย ณ คลองนาคา และเดือนพฤศจิกายนคือเดือนที่ พลับพลึงธารบานมากที่สุด




 ช่วงเวลาที่ดีที่สุด: ช่วงเวลาเช้าก่อน 09.00 น.
          ฤดูกาลที่ดีที่สุด: เดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน
          จุดชมวิวที่ดีที่สุด: จุดชมพลับพลึงธารคลองนาคา


เส้นทางการเดินทาง

          จากจังหวัดชุมพรใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ถึงอำเภอหลังสวน แยกทางหลวงหมายเลข 4006 แล้วมาเจอกับทางหลวงหมายเลข 4 อีกครั้ง ที่บ้านราชกรูด มุ่งหน้าสู่ อำเภอกะเปอร์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา

          ทั้งนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อที่ ททท.สำนักงานชุมพร โทรศัพท์ 0 77501 8312, 0 7750 2775-6






วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

บลูคอตเทจ มานั่งจิบชากินขนมเพลิน ๆ

เดือนตุลาคมมาเยือนเป็นสัญญาณของช่วงปลายฝนต้นหนาว อากาศกำลังสบาย ๆ อย่างนี้เหมาะกับการออกไปหาขนมอร่อย ๆ พร้อมละเลียดชารสดีสักแก้วกันนะคะ We Recommend เองก็ไม่รอช้าที่จะออกไปหาร้านสวยถูกใจมาฝากทุกคนเช่นเคย งั้นตามเรามาที่ร้าน Blue Cottage by Four Sisters กันเลยค่ะ

English Country House
ถ้ามองจากภายนอกก็คงคิดว่าที่นี่ขายเฉพาะงาน Decoupage หรืองานตกแต่งลวดลายจาก Napkin ลงบนของใช้ต่าง ๆ แต่เมื่อเปิดประตูเข้าไปข้างในจะพบว่าที่นี่ได้ซุกซ่อนเบเกอรี่โฮมเมดแสนอร่อยไว้บนโต๊ะไม้ตัวยาวด้านหน้าเตาผิง ตกแต่งภายในสไตล์ English Country ซึ่งเน้นเฟอร์นิเจอร์ไม้สีโอ๊ก ตัดกับวอลล์เปเปอร์ลายดอกไม้เรียบหวาน มีมุมโซฟาบุนวมหนาสีน้ำเงินขรึม ให้บรรยากาศเหมือนมาเยี่ยมเยือนบ้านเพื่อนในชนบทของอังกฤษ

Let's Have a Leisure Time

ที่ Blue Cottage มีชาหลากหลายรสไว้ให้คุณได้เลือกสรร รวมทั้ง Twinings Oriental Earl Grey (40 บาท) ชาร้อนรสเบาสูตรคลาสสิกหอมกลิ่นเบอร์กาม็อตและจัสมินให้ความผ่อนคลาย ทานคู่กับ English Scones (60 บาท) ฝีมือ คุณตา พี่สาวคนโตที่อบขนมชนิดนี้มากว่า 10 ปี รับประกันความอร่อยล้ำแบบอังกฤษแท้ ๆ ค่ะ หรือจะลอง Butter Rose (60 บาท) บัตเตอร์เค้กหอมกรุ่นรูปกุหลาบสวยสะพรั่ง ตักตรงไส้กลางจะเจอซอสสตรอว์เบอร์รี่ฉ่ำหวาน ทานแกล้มกาแฟหอมกรุ่น Hot Cappuccino (40 บาท) รสนุ่มถูกใจ ถัดมาเป็น Cottage Cheesecake (90 บาท) ชีสเค้กสูตรพิเศษ เนื้อชีสเนียนหอมกลิ่นเลมอนชื่นใจ ท็อปหน้าด้วยดับเบิ้ลชีสอีกหนึ่งชั้น ใครเป็น Cheesecake Lover ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง ยังมี Red Velvet (60 บาท) ซึ่งนำสูตรจากร้าน Hummingbird ลอนดอน มาปรับปรุงให้เป็นสูตรเฉพาะของที่ร้าน เนื้อเค้กเบานุ่มหอมช็อกโกแลต แต่งหน้าครีมชีสหวานมันกลมกล่อม อร่อยไม่แพ้เจ้าของสูตรเลยค่ะ


มานั่งจิบชาทานขนมเพลิน ๆ ที่นี่แล้ว อาจจะได้ลองหัดทำเดคูพาจลายน่ารักบนเคส iPhone, กล่องแว่น หรือของขวัญชิ้นพิเศษติดไม้ติดมือกลับไปฝากคนคุ้นเคยอีกด้วย ร้าน Blue Cottage ตั้งอยู่บนถนนประดิพัทธ์ หัวมุมซอย 10 ไม่ไกลจากแยกสะพานควาย เปิดบริการทุกวัน เวลา 10.00 - 18.00 น. ค่ะ

Recommended Dishes
Twinings Oriental Earl Grey
English Scones
Butter Rose
Hot Cappuccino
Cottage Cheesecake
Red Velvet

ที่ตั้ง: 172/1-2 ซอยประดิพัทธ์ 10 ถนนประดิพัทธ์ แขวงสามเสนใน พญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
โทร: 02-271-0721, 089-499-2994
เวลาเปิดบริการ: ทุกวันเวลา 10.00-18.00 น.
ราคาต่อท่านโดยประมาณ: 101-300 บาทต่อคน
ประเภทอาหาร: ชา-กาแฟ, เบเกอรี่
รูปแบบการให้บริการ: ร้านกาแฟ-อาหารว่าง
เหมาะสำหรับ: นั่งชิลๆ, นัดเดท
ที่จอดรถ:ริมถนน
facebook Page:http://www.facebook.com/TheBlueCottage

คลิ๊กจ้า

แล้วจะไปเยือนนะจ๊ะ ^^

เที่ยวอัมพวา พาชมโบสถ์แม่พระบังเกิด

ข้างๆ ตลาดบางนกแขวกตรงข้ามฝั่งคลองชนิดตะโกนก็พอได้ยินถึงกันเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของคริสต์ชน นั่นก็คือ "อาสนวิหารแม่พระบังเกิด (The Nativity of Our Lady, Cathedral)" ซึ่งถ้าใครได้เห็นก็คงชื่นชมในความสูงใหญ่อลังการ ไม่เว้นแม่กระทั่งคริสต์ชนด้วยกันเอง โบสถ์แห่งนี้ตั้งอยู่ใน "วัดแม่พระบังเกิด" ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2393


 

ส่วนอาสนวิหารได้ถูกสร้างขึ้นภายหลังในปี พ.ศ. 2433 โดยดำริของ คุณพ่อเปาโลซัลมอน เจ้าอาวาสในขณะนั้น (ซึ่งชาวบ้านเรียกกันตามลิ้นคนไทยว่า "คุณพ่อเป่า") เพื่อให้เพียงพอต่อการรองรับสัตบุรุษที่นับวันจะทวีจำนวนมากขึ้น อีกทั้งเพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีทางศาสนาอื่นๆ อาสนวิหารหลังนี้ทำพิธีเสกและเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2439 ก่อนยุค "แดง ไบเล่" 60 ปี


 
ตัววิหารเป็นศิลปะแบบโกธิคที่สร้างด้วยอิฐเผา ผนังฉาบด้วยปูนตำกับน้ำเชื่อมประสานจากอ้อยใสสีดำ ประดับตกแต่งด้วยกระจกสีชนิด Stain Glass จากฝรั่งเศสในเรื่องราวของพระนางมารีย์พรหมจรรย์จากพระคัมภีร์และภาพของนักบุญชายหญิงที่สวยงามมาก ภายในกว้างขวางและตกแต่งอย่างยิ่งใหญ่มโหฬาร


เพราะประวัติการก่อสร้างที่ยาวนานกว่าร้อยปีและการก่อสร้างยังประดับตกแต่งอย่างอลังการ ทำให้อาสนวิหารพระแม่บังเกิดที่บางนกแขวกแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นวัดที่สวยงามและเก่าแก่ที่สุดของชาวคาธอลิกในประเทศไทย หากจะเดินทางมาเยี่ยมชมอาสนวิหารพระแม่บังเกิดก็อย่ามาในวันจันทร์และอังคารเพราะจะมีการทำพิธีสำคัญเป็นประจำ และอย่าลืมว่าต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยเท่านั้น!

ที่มาจ้า ^^

ย้อนตำนานประเพณีรับบัวโยนบัว วิถีท้องถิ่นชาวบางพลี


ย้อนตำนานประเพณีรับบัวโยนบัว วิถีท้องถิ่นชาวบางพลี สมุทรปราการ (ไทยโพสต์)

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก
paknam.com

          ประเพณีรับบัวโยนบัวเป็นประเพณีประจำท้องถิ่นของชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดมาแต่โบราณ โดยมิได้ปรากฏหลักฐานว่ามีมาแต่ยุคใดสมัยใด มีข้อสันนิษฐานความเป็นมาจากผู้เฒ่าผู้แก่บางพลีว่า เกิดขึ้นประมาณ 80 ปีมาแล้ว เพื่อเป็นการนมัสการหลวงพ่อโต เล่ากันว่าเป็นพี่น้องกับหลวงพ่อโสธรแปดริ้ว และหลวงพ่อวัดบ้านแหลมสมุทรสงคราม

          ตำนานกล่าวว่า หลวงพ่อโตลอยตามน้ำเจ้าพระยา มาหยุดที่ปากคลองสำโรงลอยอยู่แถว ๆ นั้น เป็นการแสดงเจตจำนงอันแน่วแน่ว่าจะจำพรรษาอยู่ละแวกนั้นอย่างแน่นอน ชาวบ้านจึงช่วยกันชักรั้งนิมนต์เข้ามาจนถึงวัดบางพลีใหญ่ใน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานปัจจุบัน แล้วอัญเชิญขึ้นไว้ในโบสถ์ หลวงพ่อโตจึงเป็นหลวงพ่อของชาวบางพลีตั้งแต่นั้นมา


          หลังจากนั้นทุก ๆ ปี ชาวบางพลีจะนิมนต์หลวงพ่อขึ้นเรือ แล่นไปให้ชาวบ้านได้นมัสการ โดยครั้งแรกทำเป็นรูปจำลองโดยเอาไม้ไผ่มาสานเป็นโครงรูปองค์พระพุทธรูป ปิดหุ้มด้วยกระดาษทอง ชาวบ้านจะพากันคอยนมัสการหลวงพ่ออยู่ริมคลอง ต่างก็จะเด็ดดอกบัวริมน้ำ แล้วโยนเบา ๆ ขึ้นไปบนเรือหลวงพ่อ

          การรับบัวโยนนี้แต่เดิมคงเล่นกันมาก่อนที่จะกลายเป็นประเพณีนมัสการหลวงพ่อโต เพราะตามคำเล่าต่อ ๆ กันมาเล่าว่า ในสมัยก่อนท้องที่อำเภอบางพลี เป็นแหล่งที่มีดอกบัวหลวงชุกชุมและมีมากในฤดูฝน ดังนั้น การบำเพ็ญกุศลในเทศกาลออกพรรษา ประชาชาชนต่างท้องที่ที่อยู่ใกล้เคียงกับอำเภอเมืองบางพลี โดยเฉพาะชาวอำเภอเมืองสมุทรปราการกับชาวอำเภอพระประแดง จึงพากันไปหาดอกบัวหลวงในท้องที่อำเภอบางพลี


          ในสมัยแรก ๆ คงจะไปเที่ยวเก็บกันเองตามลำคลองหนองบึงต่าง ๆ แต่ในสมัยต่อมา ชาวบางพลีได้เก็บหรือจัดเตรียมดอกบัวหลวงไว้สำหรับแจกชาวต่างบ้านที่ต้องการโดยไม่คิดมูลค่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่กันหรือเพื่อหวังบุญกุศลร่วมกัน อันกลายมาเป็นประเพณีที่เรียกว่า "รับบัว"

          แต่ปัจจุบันนี้ชาวต่างท้องที่ดูจะไม่สนใจที่จะไปหาดอกบัวหลวงที่ท้องอำเภอบางพลีเหมือนสมัยก่อน ทางราชการอำเภอบางพลีก็คงจัดให้มีการรับบัวขึ้นเพื่อรักษาและส่งเสริมประเพณีดั้งเดิมให้คงอยู่ต่อไป

          ในสมัยก่อนนั้นในแถบอำเภอบางพลี มีประชาชนอยู่อาศัยเป็น 3 พวก คือ คนไทย รามัญ และคนลาว แต่ละพวกก็มีหัวหน้าควบคุมดูแล และทำมาหากินต่างกัน ต่อมาทั้ง 3 กลุ่มได้ปรึกษาที่จะร่วมแรงร่วมใจกันหักร้างถางพงให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเพื่อทำไร่และทำสวนต่อ และเมื่อถางป่ามาถึงทาง 3 แยก ซึ่งตกลงกันจะแยกทำมาหากินไปคนละทาง

          พวกรามัญที่แยกกันไปทำมาหากินทางคลองลาดกระบังทำอยู่ได้ 2-3 ปี ก็ไม่ได้ผล เพราะนกและหนูชุกชุมรบกวน จนพืชผลเสียหายมาก เมื่อทำมาหากินไม่ได้ผล พวกรามัญก็ปรึกษากันเตรียมตัวอพยพกลับถิ่นเดิมคือปากลัด และเริ่มอพยพในตอนเช้ามืดของเดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ ก่อนไปได้เก็บดอกบัวในบึงบริเวณนั้นไปมากมาย คนไทยที่คุ้นกับพวกรามัญก็บอกว่าจะเอาไปบูชาพระคาถาพันที่ปากลัด และชักชวนคนไทยที่รักและสนิทชิดชอบกันว่าในปีต่อไป พอถึงเดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ ให้คนไทยเก็บดอกบัวรวบรวมไว้ที่วัดหลวงพ่อโตด้วย แล้วพวกตนจะมารับ

          ในปีต่อมา พอถึงกำหนดเดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ คนไทยก็ช่วยกันเก็บดอกบัว รวบรวมไว้ที่บางพลีใหญ่ในตามคำขอร้องของพวกรามัญ พวกรามัญก็มารับดอกบัวไปทุกปี


          พวกรามัญที่มารับดอกบัวนั้นมาโดยเรือขนาดใหญ่จุคน 50-60 คน โดยจะมาถึงตี 3-4 และเมื่อมาถึงวัดก็ตีฆ้องร้องรำทำเพลงและการละเล่นต่าง ๆ อย่างสนุกสนาน พวกที่มาคอยรับพลอยเล่นกันสนุกสนานไปด้วย และคนไทยจึงได้เตรียมอาหารคาวหวานไปเลี้ยงรับรองโดยใช้ศาลาวัดเป็นที่เลี้ยงอาหารกัน เมื่ออิ่มหนำสำราญดีแล้วพวกรามัญนำดอกบัวไปบูชาหลวงพ่อโต และนำน้ำมนต์ของหลวงพ่อกลับไปเพื่อเป็นสิริมงคล ส่วนดอกบัวที่เหลือพวกรามัญก็นำกลับไปบูชาพระคาถาพัน ที่วัดของตนต่อไป นี่เป็นที่มาของประเพณีรับบัวที่รับรู้และปฏิบัติสืบต่อกันมา

          สำหรับประชาชนทั่วไป ทั้งชาวต่างบ้านและชาวบางพลีเองก็จะไปเที่ยวดูงานโยนบัวและรับบัว และเที่ยวดูการละเล่น หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางอำเภอจัดขึ้น เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินเท่านั้น พอถึงวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปีชาวอำเภอเมืองสมุทรปราการและชาวอำเภอพระประแดงจะชักชวนพวกพ้องเพื่อนฝูงพากันลงเรือเป็นเรือพายบ้าง เรือแจวบ้าง ลำเล็กบ้าง ลำใหญ่บ้าง และต่างก็นำเครื่องดนตรีต่าง ๆ ไปด้วย เช่น ซอ ปี่กระจับ โทน รำมะนา โหม่ง กรับ ฉิ่งฉาบ เป็นต้น แล้วแต่ใครจะถนัด หรือมีเครื่องดนตรีชนิดไหน พายกันไป แจวกันไป ร้องรำทำเพลงกันไป เป็นที่สนุกสนาน ตลอดระยะทาง และเป็นเช่นนี้ตลอดคืน ซึ่งบางพวกจะผ่านมาทางลำแม่น้ำเจ้าพระยา บางพวกจะผ่านมาทางลำคลองอื่น ๆ เข้าคลองสำโรงและมุ่งไปยังหมู่บ้านบางพลีใหญ่

          สำหรับชาวบางพลีก็จะถือปฏิบัติกันเป็นประเพณีว่าเมื่อถึงวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 ก็จะต้องหาดอกบัวหลวง สำหรับไว้มอบให้แก่ชาวต่างบ้านที่ต้องการมิตรต่างบ้านมาเยือนในโอกาสเช่นนั้นก็แสดงมิตรจิตต้อนรับ จัดหาสุราอาหารมาเลี้ยงดูกัน ตั้งแต่ตอนค่ำของวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 ส่วนพวกที่มารับบัว คนใดที่รู้จักมักคุ้นกับชาวบางพลีผู้เป็นเจ้าของบ้าน ก็จะพากันขึ้นไปเยี่ยมเยือนบ้านนั้นบ้านนี้


          ต่างก็จะสนุกสนานร้องรำทำเพลงและรับประทานสุรา อาหาร ร่วมกันตลอดคืน พอเช้าตรู่ของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ชาวต่างบ้านก็จะนำเรือของตนไปตามลำคลองสำโรง และไปขอรับบัวจากชาวบ้านบางพลีทั้งสองฝั่งคลอง การให้และรับดอกบัวก็จะกระทำอย่างสุภาพคือส่งและรับกันมือต่อมือหรือก่อนจะให้กันยกมือพนมอธิษฐานเสียก่อน ระหว่างชาวบ้านบางพลีกับชาวบ้านต่างที่สนิทสนมคุ้นเคยกันนี้เอง เมื่อนานเข้าก็ค่อยกลายเป็นความนิยมกันเป็นการทั่วไปการให้และรับกันแบบมือต่อมือจึงเปลี่ยนไปจนมีการนำมาพูดในตอนหลังว่า "โยนบัว" แทนคำว่า "รับบัว"

          การรับดอกบัวของชาวต่างบ้านจากชาวบางพลีจะสิ้นสุดลงเมื่อเวลา 08.00 น. หรือ 09.00 น. และชาวต่างบ้านก็จะพากันกลับ ตอนขากลับนี้จะมีการแข่งเรือกันไปด้วย แต่เป็นการแข่งกันโดยไม่มีเส้นชัย ไม่มีกรรมการตัดสินและไม่มีการแบ่งประเภท หรือชนิดของเรือ ใครพอใจจะแข่งกับใคร เมื่อไร ที่ใด ก็แข่งขันกันไป หรือเปลี่ยนคู่แข่งขันไปเรื่อย ๆ ตามแต่จะสะดวกหรือตกลงกัน

          ดอกบัวที่ชาวต่างบ้านได้รับจากชาวบางพลีนั้นก็จะนำไปบูชาพระในวันเทศกาลออกพรรษาตามวัดในหมู่บ้านของตน ส่วนใหญ่จะนำไปบูชาพระสมุทรเจดีย์ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอเมืองสมุทรปราการ

กรมอุทยานแห่งชาติ ผุดไอเดียขายตั๋วผ่านเซเว่น เริ่ม พ.ย.นี้

กรมอุทยานแห่งชาติ ผุดไอเดียขายตั๋วผ่านเซเว่น เริ่ม พ.ย.นี้



           กรมอุทยานแห่งชาติ เตรียมเซ็นสัญญากับร้าน 7-11  เพื่อขายตั๋วเข้าชมอุทยานแห่งชาติ ทั้ง 148 แห่ง เพื่อป้องกันการทุจริตค่าตั๋วเข้าชมอุทยานฯ คาดเริ่มดำเนินการได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้

กรมอุทยานแห่งชาติ ผุดไอเดียขายตั๋วผ่านเซเว่น เริ่ม พ.ย.นี้

            เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา นายวิทยา หงส์เวียงจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 กันยายนนี้ กรมอุทยานฯ จะลงนามความร่วมมือ และเซ็นสัญญากับร้านสะดวกซื้อ 7-11 เพื่อขายตั๋วเข้าอุทยานฯ ทั้ง 148 แห่ง ผ่านร้านสะดวกซื้อ 7-11 ทุกสาขาทั่วประเทศ
            นายวิทยา กล่าวต่อว่า การลงนามความร่วมมือดังกล่าว เพื่อป้องกันการทุจริตค่าตั๋วเข้าอุทยานฯ โดยเจ้าหน้าที่จะไม่ได้แตะตัวเงิน หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจำหน่ายตั๋ว ซึ่งวิธีการดังกล่าวราชการจะไม่เสียผลประโยชน์แต่อย่างใด สำหรับราคาค่าตั๋วเข้าอุทยานฯ นั้น จะคิดค่าบริการเท่ากับราคาตั๋วที่ซื้อตามหน้าอุทยานฯ ทั่วไป
            อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกนักท่องเที่ยวยังคงสามารถซื้อตั๋วหน้าประตูที่ทำการอุทยานฯ ได้ทุกแห่ง จนกว่าทางกรมอุทยานฯ จะปรับให้มีการซื้อขายตั๋วผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในช่วงเปิดฤดูกาลท่องเที่ยว หรือประมาณเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

อิ่มไม่รู้ตัว โกลด์ กะหรี่ กรุงเทพ

หิวกันหรือบังจ๊ะ คราวนี้พาไปหาของกินกันบ้างนะจะได้ไม่เบื่อ

เตรียมท้องให้ว่างไว้นะคะ เพราะวันนี้ We Recommend จะพาไปอร่อยแบบเต็มอิ่มที่ร้าน Gold Curry Bangkok ร้านข้าวแกงกะหรี่ซึ่งส่งความอร่อยเข้มข้นตรงมาจากจังหวัด Kanazawa ประเทศญี่ปุ่นกันเลยทีเดียวค่ะ
อยากอร่อยไซส์ SS S M L หรือ 2kg?


ร้าน Gold Curry Bangkok เน้นขายแกงกะหรี่แบบญี่ปุ่น แต่จุดขายอีกอย่างคือการแข่งขันกินจุ โดยมีแกงกะหรี่ให้เลือกประลองตั้งแต่ขนาดสองกิโลกรัมไปจนถึงสิบกิโลกรัมเลยค่ะ ใครรู้ว่าทานจุทานเยอะก็ลองไปแข่งดูได้นะคะ แต่ We Recommend ขอเลือกสั่งข้าวแกงกะหรี่ขนาดปกติ ซึ่งมีขนาดให้เลือกสี่ขนาดคือ SS, S, M และ L จานแรก Gold Katsu Curry Rice ข้าวหน้าแกงกะหรี่หมูทอด หมูทอดกรอบนอกนุ่มในเข้ากันกับแกงกะหรี่ร้อน ๆ หรืออาจเพิ่มรสชาติด้วย Cheese Hamburger Curry Rice ข้าวแกงกะหรี่หน้าแฮมเบอเกอร์และชีส อีกเมนูที่ได้ลิ้มลองความหลากหลายอร่อยแบบเต็ม ๆ คือ Hunton Curry Riceข้าวหน้าแกงกะหรี่ฮันตัน ท็อปด้วยออมเล็ตฟูนุ่ม กุ้งทอด ปลาทอด และปลาหมึกทอด นอกจากนั้นยังมีไอศกรีมเจลาโต้โฮมเมดหลากหลายรสชาติรอเสิร์ฟ


ความอร่อยทำให้ We Recommend ทานหมดจานไซส์ M ไปโดยไม่รู้ตัว ไม่แน่นะคะ คราวหน้าที่เราหิวมาก ๆ อาจลองประลองความอิ่มกับแกงกะหรี่ 2kg ดูบ้างก็ได้ มีใครสนใจจะมาเชียร์บ้างมั้ยคะ?

Recommended Dishes
Gold Katsu Curry Rice
Cheese Hamburger Curry Rice
Hunton Curry Rice

ที่ตั้ง: 20/3 ซอยสุขุมวิท 39 แขวงคลองตันเหนือ วัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
โทร: 02-662-5003
เวลาเปิดบริการ: ทุกวันเวลา 11.00-02.00 น.
ราคาต่อท่านโดยประมาณ: 101-300 บาทต่อคน
สัญชาติอาหาร: ญี่ปุ่น
ประเภทอาหาร: ข้าวแกงกะหรี่
รูปแบบการให้บริการ: ร้านอาหารทั่วไป
เหมาะสำหรับ: ครอบครัว
ที่จอดรถ: ริมถนน
facebook Page: http://www.facebook.com/GoldCurryBangkok

ที่มาจ้า

พระตำหนักประทับแรม ปากพนัง นครศรีธรรมราช

พระตำหนักประทับแรม ปากพนัง หรือ พระตำหนักประทับแรมเฉลิมพระเกียรติอำเภอปากพนัง ตั้งอยู่ที่ ตำบลหูล่อง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพระตำหนักแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศ ที่ก่อสร้างขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจของประชาชนชาวไทย เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นที่พระองค์ท่านทรงเมตตาต่อเหล่าพสกนิกรชาวปากพนังเป็นที่ยิ่ง
พระตำหนักประทับแรม ถูกสร้างขึ้นในโครงการสร้างบ้านให้พ่อซึ่งดำเนินการโดยความร่วมมือของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชและชาวไทยทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นพระตำหนักทรงงานถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในคราวเสด็จอยู่ และทรงงานในจังหวัดนครศรีธรรมราช ภายในพระตำหนักประกอบไปด้วยกลุ่มอาคารพระตำหนักฯ มีลักษณะสถาปัตยกรรมภาคใต้ ตั้งอยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ


ในอดีต อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชและในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง “พรุควนเคร็ง” ประสบกับปัญหาเดือดร้อนจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก ทั้งอุทกภัยการขาดแคลนน้ำจืด ปัญหาดินเปรี้ยว ปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำพื้นที่เกษตร ผลผลิตตกต่ำ ซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์ยากแร้นแค้น ส่งผลถึงการอพยพแรงงานและการโยกย้ายถิ่นฐาน จากดินแดนซึ่งเคยเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งพื้นที่นาและในแม่น้ำ กลับกลายเป็นพื้นที่ที่มีความยากจนมากที่สุดของประเทศ
การเดินทาง จากอำเภอเมืองไปอำเภอปากพนัง ระยะทาง 35 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข 4013 เลี้ยวขวาบริเวณสามแยกไปอำเภอปากพนังฝั่งตะวันออก ถึงสี่แยกเลี้ยวขวาอีกครั้ง เดินทางต่ออีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มแม่น้ำปากพนังอันเนื่องมาจาก พระราชดำริ และหากจะเดินทางไปอำเภอปากพนังฝั่งตะวันออก ใช้ทางหลวงหมายเลข 4013 จากอำเภอเมืองเลี้ยวขวาบริเวณสามแยกผ่านสี่แยกและข้ามสะพานแม่น้ำปากพนัง

ไปเที่ยวรึยัง! 'หัวหินสิชล'

หาดหินงาม หรือหาดที่ชาวท้องถิ่นเรียกกันว่า หัวหินสิชล คือแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อมานานของอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ชายหาดที่อยู่ติดกับหาดสิชลนั้นค่อนข้างมีทิวทัศน์ที่สวยงามมาก

บริเวณชายหาดเป็นแนวหินและก้อนหินที่สวยงามขนาดต่างๆ ล้อมรอบไปด้วยทิวไม้ร่มรื่นไปจนจรดหาดทรายโค้ง เหมาะแก่การเล่นน้ำเป็นอย่างมาก สำหรับคนพลังงานเหลือเฟือ ลองซีคายัคดู เหมาะสำหรับลูกๆ วัยรุ่น วัยซน จะได้ออกเหงื่อ ฝึกทักษะการพาย เป็นการออกกำลังกายที่ดีเเละสนุกสนาน
นอกจากนี้ยังมีที่พักและร้านอาหารบริเวณริมหาดหลายแห่งหาดหินงาม บริเวณชายหาดเต็มไปด้วยก้อนหินกลมเกลี้ยง มีสีสันสวยงามและเป็นที่มาของชื่อหาดหินงาม ตลอดแนวชายหาดมีสิ่งอำนวยความสะดวกบริการ